ชวนเลี้ยงวัวนอก พัฒนาสายพันธุ์ผสม เพิ่มมูลค่าวัว สร้างรายได้ต่อปีหลักล้านบาทขึ้น

0
555

ประจวบคีรีขันธ์ ชวนเลี้ยงวัวพันธุ์ต่างประเทศ พัฒนาสายพันธุ์เพิ่มมูลค่าหลักแสน แนะเลี้ยงง่ายต้องใส่ใจ ไม่ให้โคเครียด สร้างรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

24 มี.ค. 66 – นายวิทูรย์ จรูญรุ่ง อายุ 46 ปี หรือ ผู้ใหญ่หนึ่ง จรูญรุ่งฟาร์ม 999/1 หมู่ 2 บ้านหนองหูช้าง ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าประสบการณ์การเลี้ยงวัวกว่า 20 ปี

เริ่มต้นเลี้ยงเพียงหนึ่งตัว มีเงินทุนจากเงินสิดสอดแต่งงานที่พ่อแม่มอบให้ ปัจจุบันมีแม่พันธุ์วัวสายพันธุ์ต่างประเทศจำนวน 5 ตัว ซึ่งแยกเลี้ยงในคอกเดียวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อีก 50 ตัวที่เป็นวัวพันธุ์นอกผสมกับพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงในสวน

โดยแม่วัว 5 ตัว มีราคากว่า 2 ล้านบาท เป็นพันธุ์ บราห์มัน อเมริกันบราห์มัน ฮินดูบราซิล ชาโรเล่ห์ เป็นตัวที่มีราคาสูงสุดตัวละ 5 แสน จำนวน 2 ตัว ส่วนลูกวัวอายุ 4-8 เดือน อีกสองตัวรอจำหน่ายในราคา 2-3 แสนบาท

สำหรับแม่พันธุ์วัวและลูกวัวทั้ง 7 ตัวนี้ สาเหตุที่ต้องแยกออกมาเลี้ยงเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัวที่มีคุณสมบัติแม่พันธุ์ที่ดี ให้ลูกถี่ปีละหนึ่งตัว มีรูปร่างสมบูรณ์ ต้องทำคอกไม้ไผ่แยกแต่ละแม่พันธุ์ กางมุ้งป้องกันแมลง ให้วัวกินหญ้าสด ฟางแห้ง เปลือกสับปะรดอบ

ในช่วงเช้าจะพาวัวไปเดินเล่นผ่อนคลาย และช่วงบ่ายอาบน้ำให้ ส่วนในคอกจะทำความสะอาด เก็บกวาดขี้วัวออกจากคอก ให้วัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่เครียด ฉีดยาบำรุง ยาถ่ายพยาธิ ยาปากเท้าเปื่อย ยาลิมปิสกิน

“ที่ฟาร์มของผม เลี้ยงมากที่สุดในอำเภอเมือง ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์และราคาขาย ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัว วิธีการเลี้ยง หากเป็นการเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติจะควบคุมได้ยาก ไม่เจริญเติบโต ลูกบ้านถามทำไมถึงขายวัวได้ตัวละแสนบาท มากกว่าเกษตรกรรายอื่นขายได้ 3 หมื่นบาท”

ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน จึงทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ลูกบ้านมาดูวิธีการเลี้ยง ตนไม่ได้ปิดความลับอะไร เคล็ดลับสำคัญสุด คือความใส่ใจ คนเลี้ยงต้องมีใจรัก อย่าเลี้ยงตามกระแส ลองผิดลองถูก ต้องสังเกตพฤติกรรมของวัว เช่น ตนเคยให้ข้าวโพดโม่ มันที่ใช้หมักเอธานอล ส่งผลให้วัวทองอืด อาหารไม่ย่อย จึงต้องเลิกให้”

สำหรับราคาการซื้อขายวัวสายพันธุ์ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่มีการกำหนดตายตัว ส่วนแม่พันธุ์วัวนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ขึ้นอยู่กับรางวัลที่วัวประกวดชนะ ต้นทุนภาษีและการขนส่ง ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว เช่น วัวแม่พันธุ์ชาโรเรส์ที่ชนะเลิศการประกวดที่ประเทศเนเธอแลนด์ น้ำหนัก 1.4 ตัน ราคา 3 ล้านบาท ที่มีผู้เลี้ยงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ดังนั้นสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงวัวสายพันธุ์ผสม หรือสายพันธุ์นอกมากขึ้น เพราะลักษณะวัวตัวใหญ่ เนื้อเยอะ ได้ราคาขายได้กว่าวัวพันธุ์พื้นเมืองไม่ต่ำกว่าสองเท่า สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท แต่หากช่วงไหนวัวมีความพร้อมผสมพันธุ์และความสมบูรณ์ของร่างกาย จะขายลูกวัวได้เดือนละตัว หรือขั้นต่ำ 2 แสนบาท

นายนิพล ทองเก่า อายุ 31 ปี เกษตรกรรายเล็ก ตำบลอ่าวน้อย ที่หันมาเลี้ยงวัวสายพันธุ์นอก เปิดเผยว่า ตนเองเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองมากว่าสิบปี จึงหันมาเลี้ยงวัวพันธุ์ผสม เป็นสายพันธุ์นอกที่ผสมกับสายพันธุ์ไทย ที่ได้เปรียบเรื่องทนทานต่อสภาพอากาศ ทนโรค โดยแรกเริ่มเลี้ยงเพียงหนึ่งตัว ปัจจุบันมีอยู่ 5 ตัว และลูกวัวอีก 2 ตัว

สำหรับการเลี้ยงพันธุ์ผสมนั้น มีราคาไม่แพงจนเกินกำลังเกษตรกรรายย่อย หากเลี้ยงวัวที่เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ 100% ต้นทุนพ่อแม่พันธุ์หลายแสนบาท จึงค่อยๆ เลี้ยงและขยายพันธุ์ตามความพร้อม ในอนาคตจะขยับขยายไปเลี้ยงวัวสายพันธุ์นอก เพราะจำนวนตัวลดลงแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่