สพฐ. ย้ำ แบบเรียนไข่ต้ม ต้องการสื่อ ความยากจน ไม่ว่าจะกินอะไร ก็มีความสุขได้

0
6355

สพฐ. ย้ำ แบบเรียนไข่ต้ม ต้องการสื่อ ความยากจน ไม่ว่าจะกินอะไร ก็มีความสุขได้ ยันพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ชี้ปรับปรุงทุก 10 ปี

วันที่ 24 เม.ย.2566 นายอัมพร พินาสะ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 ซึ่งมีเนื้อหาว่า กินไข่ต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นการพอเพียง เห็นคุณค่าของชีวิตนั้น ว่า การจัดการเรียนรู้วิชาต่างๆ จะมีแผนจัดการเรียนรู้อยู่ ซึ่งในแต่ละบทเรียนจะกำหนดวัตถุประสงค์อยู่ว่าต้องการสอนอะไรให้กับนักเรียนบ้าง ซึ่งการจัดการเรียนรู้ จะมีสื่อประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับครูว่าจะนำสื่อการเรียนการสอนไหน มาสอนเด็กให้เด็กเกิดความรู้

โดย แบบเรียนภาษาพาที ที่เป็นประเด็นนั้น เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ให้ครูใช้ประกอบการสอน เพื่อให้เด็กนำภาษาไปใช้แสดงความรู้สึก นึกคิด หรือเห็นคุณค่าของความสุขในชีวิตผ่านวรรณกรรมเท่านั้น คนเขียนจึงกำหนดตัวละครสมมติขึ้น โดยมีตัวละครที่มาจากครอบครัวร่ำรวย แต่หาความสุขไม่เจอ และมีตัวละครที่เป็นเด็กกำพร้า แต่สามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตด้วยการแบ่งปันกัน

ซึ่งในเรื่องของการกินนั้น เนื้อเรื่องไม่ได้สื่อเรื่องโภชนาการ แต่ต้องการสื่อว่าความยากจน ไม่ว่าจะกินอะไร อยู่ตรงไหน ก็สามารถมีความสุขได้ เมื่อคนที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวยมาเห็น จึงเข้าใจว่าความสุขในชีวิตไม่ได้อยู่ที่สถานที่เกิด หรือขึ้นอยู่กับสถานที่อยู่ แต่อยู่ที่ความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน

“บทเรียนดังกล่าว ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความเข้าใจเรื่องความสุขของชีวิต แน่นอนว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ทิ้งหลักโภชนาการ โดยได้กำหนดการเรียนการสอนเรื่องนี้ไว้ในหมวดวิชาสุขศึกษา อีกทั้ง สพฐ.ได้ให้ความสำคัญกับโภชนาการของเด็กอย่างมาก เห็นได้จากการมีระบบ Thai School Lunch ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียน

ดังนั้น บทเรียนดังกล่าว เป็นการเปรียบเทียบให้เด็กเกิดกระบวนการคิด และได้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ทั้งนี้ ไม่อยากพาดพิงใคร แต่คิดว่าการเมืองขณะนี้ อยู่ระหว่างการขายความคิด การขายนโยบาย ดังนั้น ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ สพฐ.ในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็พร้อมที่จะรับฟังทุกความคิด ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์จะรับฟังและไปปรับใช้” นายอัมพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าดราม่าที่เกิดขึ้นลุกลามไปไกลหรือไม่ นายอัมพร กล่าวว่า ไม่กังวลว่าจะมีดราม่า เพราะ สพฐ.อยู่ภาคการศึกษา ยินดีที่จะรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะมองว่าทุกความคิดมีประโยชน์ ซึ่งตนคิดว่าทุกคนมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การจัดทำหนังสือหนึ่งเล่ม สพฐ.ไม่ได้จัดทำเพียงคนเดียว จะต้องผ่านกระบวนการ ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการจัดทำ และผ่านการตรวจสอบจากนักวิชาการอีกหลายคนจนเห็นตรงกันว่าหนังสือที่ออกมาเป็นที่ยอมรับแล้ว ซึ่งตนเข้าใจดี เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สพฐ.พยายามจะทำหนังสือให้ดีขึ้น ทันสมัยมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หนังสือภาษาพาทีมีประเด็นดราม่าตั้งแต่ปี 2563 แล้วปีนี้เกิดดราม่าขึ้นอีก จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยหรือไม่ นายอัมพร กล่าวว่า สพฐ.มีการปรับปรุงหนังสือเรียนทุกๆ 10 ปี เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และขณะนี้ สพฐ.เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เสนอขอปรับปรุงสื่อการสอนของตนได้ ซึ่งสื่อที่ผลิตใหม่นำเสนอใหม่ถ้ามีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นมา หลักสูตรเก่าก็ต้องไม่มีการใช้สอนอยู่แล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่