รอดตัวไป ไม่มีคนแจ้ง! ‘นัท นิสามณี’ หวิดติดคุก 5 ปี ปรับ 2 แสน ถูกฟ้องแพ่ง

0
17259

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงกรณีคลิปวิดีโอที่ “นัท นิสามณี” เน็ตไอดอลสาวพูดคำว่า “อยากกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาระเบิด” ออกมาขณะอยู่ภายในสนามบินว่า กพท. ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นพบว่า สภาพแวดล้อมโดยรอบขณะที่พูดคำนี้ออกมา ไม่มีผู้โดยสารคนอื่น หรือเจ้าหน้าที่เดินอยู่ใกล้ๆ คนกลุ่มนี้ และดูเจตนาแล้วไม่ได้เป็นการข่มขู่ เป็นลักษณะตั้งใจล้อเลียนระบบตรวจสอบ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ กรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายความผิด แต่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำ และไม่ควรลอกเลียนแบบ

“ตามปกติเมื่อมีคนพูดคำว่า “ระเบิด” ในสนามบิน หรือภายในเครื่องบิน หากมีเจ้าหน้าที่ หรือผู้โดยสารคนอื่นได้ยิน สามารถแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจได้ สำหรับเคสนี้อาจจะไม่มีใครได้ยินจึงไม่ได้ดำเนินการ ก็เลยรอดไป อย่างไรก็ตามการพูดเล่น หรือล้อเลียนระบบตรวจสอบ หากมีคนแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ นอกจากจะเป็นการสร้างภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากสอบสวนแล้วพบว่าคำพูดนั้น ทำให้คนอื่นเกิดความแตกตื่น ตกใจ ก็ต้องมีความผิดได้รับโทษ แต่หากพบว่าพูดเล่น หรือล้อเลียนระบบตรวจสอบ ไม่ได้ข่มขู่ อาจต้องใช้เวลาในการถูกสอบสวนจนทำให้ไม่ได้เดินทางในเที่ยวบินที่ตัวเองจะเดินทางได้ ดังนั้นจึงไม่ควรทำ” ผอ.กพท. กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเคสที่เข้าข่ายความผิดอย่างชัดเจนนั้น ต้องเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า มีระเบิด หรือไปเจอระเบิด หรือข่มขู่ เช่น เจ้าหน้าที่ทำงานแบบนี้เดี๋ยวจะปาระเบิดใส่ หรือน้องจับกระเป๋าพี่เบาๆ ข้างในนั้นมีระเบิด เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้โดยสารคนอื่นที่ได้ยินเกิดความแตกตื่น หวาดกลัว และแม้ว่าพูดแล้วจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ก็เข้าข่ายความผิดทั้งหมด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการบิน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สำหรับกรณีนี้ เนื่องจากยังไม่มีผู้ร้องเรียน จึงยังไม่สามารถเอาผิดได้ แต่กรณีที่เจ้าหน้าที่สายการบิน หรือเจ้าหน้าที่สนามบิน เป็นผู้ได้ยินจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำ โดยมีโทษตาม พ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ และหากเกิดความเสียหายจากความล่าช้าของเที่ยวบิน หรือความไม่สะดวกที่อาจเกิดความตื่นตกใจ ผู้กระทำการนั้น อาจโดนฟ้องร้องจากผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือความไม่สะดวกนั้นในทางแพ่งได้ด้วย….

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่